ประวัติของโรงเรียน
โรงเรียนผาแดงวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง
โรงเรียนผาแดงวิทยา เดิมชื่อ “โรงเรียนบ้านผาแดง” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2483 ครูใหญ่คนแรก คือ นายหลง ไชยชนะ เริ่มต้นด้วยชาวบ้านได้ร่วมมือกันก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น 1 หลัง เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 4 มีพื้นที่ 23 ไร่ 2 งาน ปีพุทธศักราช 2537 ได้รับอนุมัติเปิดขยายโอกาสทางการศึกษา โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 วันที่ 18 ตุลาคม 2538 คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดลำปาง ได้อนุมัติเปลี่ยนชื่อโรงเรียน จากโรงเรียนบ้านผาแดงเป็น “โรงเรียนผาแดงวิทยา”
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อ ป่าไม้เขตอุทยานดอยหลวง จ.พะเยา
ทิศใต้ ติดต่อ ป่าไม้เขตอุทยานถ้ำผาไท อ.งาว จ.ลำปาง็ ็
ทิศตะวันออก ติดต่อ ป่าไม้เขตอุทยานดอยหลวง จ.พะเยา
ทิศตะวันตก ติดต่อ ป่าไม้เขตอำเภอวังเหนือ จ.ลำปาง
ปัจจุบันโรงเรียนผาแดงวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว จังหวัดลำปาง รหัสไปรษณีย์ 52110 โทรศัพท์ 086-9219218
พื้นที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ในเขตปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร้อง ระยะทางจากโรงเรียน ถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 เป็นระยะทาง 150 กิโลเมตร จากโรงเรียนถึงที่ว่าการอำเภองาว เป็นระยะทาง 64 กิโลเมตร
จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนทั้งสิ้น 98 คน ครูสายผู้สอน 8 คน พนักงานราชการ 1 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน ครูธุรการ 1 คน นักการภารโรง 1 คน มีนายอนุพนธ์ คำหล้า ดำรงตำแหน่งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา
พื้นที่บริการของโรงเรียนผาแดง
มีเขตพื้นที่บริการ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 5 บ้านผาแดง หมู่ที่ 6 บ้านปากบอก หมู่ที่ 7 บ้านแม่งาวใต้ หมู่ที่ 8 บ้านใหม่พัฒนา และหมู่ที่ 13 บ้านแม่คำหล้า
โรงเรียนผาแดงวิทยา เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน มีประชากรประมาณ 700 คน บริเวณใกล้เคียงและบริเวณโดยรวมส่วนใหญ่เป็นป่าและเทือกเขา อาชีพหลักของชุมชน คือ ทำนา ทำไร่ หาของป่าขาย ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและได้รับการศึกษาน้อย ชุมชนอยู่ในเขตชนบทห่างไกล ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา ป่าไม้ และถนนที่ใช้ในการเดินทางชำรุด ทำให้การพัฒนาชุมชนและสถานศึกษาไม่ดีเท่าที่ควร ตลอดจนการประสานงานระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานต้นสังกัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประเพณี / ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คือ ประเพณีบูชาต้นน้ำ, ประเพณีตานก๋วยสลาก, ประเพณีสงกรานต์ ฯลฯ
ผู้ปกครองส่วนใหญ่ จบการศึกษาระดับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อาชีพหลัก คือ เกษตรกรรมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ ตามลำดับ ฐานะทางเศรษฐกิจ/รายได้โดยเฉลี่ยต่อครอบครัว ต่อปี 5,000-10,000 บาท จำนวนคนเฉลี่ยต่อครอบครัว 4 คน