ประวัติโดยย่อ
จุดกำเนิดเริ่มมาจากการจุดประกายของชาวบ้านในชุมชนบ้านฟ่อนโดยมีวัดบ้านฟ่อนเป็นสถานที่ก่อเกิดความคิด เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยนั้นไปร่วมฟังเทศน์ฟังธรรมกันที่วัดอยู่เป็นประจำ ปรากฏว่าเด็กเล็ก ๆ ในชุมชนจำนวนมากก็จะไปเล่นที่วัดกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เป็นการรบกวนสมาธิในการฟังเทศน์ฟังธรรมของผู้ใหญ่ เจ้าอาวาสในสมัยนั้นจึงได้ให้พระลูกวัดพาเด็ก ๆ ไปรวมกลุ่มและเล่านิทานพื้นบ้านให้เด็ก ๆ ฟัง ต่อมาได้ขยายผลเป็นการสอนให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน จนถึงที่สุดได้ใช้ศาลาวัดเป็นที่สอนหนังสือให้กับเด็ก ชาวบ้านต่างพาลูกหลานของตนไปฝากเรียนหนังสือกับพระสงฆ์ จนทางการได้เห็นความสำคัญจึงได้พัฒนาเป็นโรงเรียนบ้านฟ่อน โดยใช้ศาลาวัดบ้านฟ่อนเป็นสถานที่เรียน พ่อแปง แก้วนัย ชาวบ้านฟ่อนได้เล่าว่า “เดิมทีเดียวผู้เฒ่าผู้แก่ได้ไปร่วมฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัด เป็นประจำ และได้พาลูกหลานไปร่วมด้วย มีเด็กเป็นจำนวนมากทำให้เสียงรบกวนสมาธิในการฟังเทศน์ เจ้าอาวาสจึงให้พระลูกวัดพาพวกเด็ก ๆ มานั่งรวมกันฟังนิทานฟื้นบ้านดั้งเดิม และต่อมาก็มีความคิดที่จะสอนให้เด็ก ๆ รู้จักประเพณีวัฒนธรรมแล้วจึงได้เริ่มสอนการอ่าน การเขียนหนังสือไทย โดยใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่เรียน ผู้คนจึงต่างพากันนำลูกหลานมาฝากเรียนกับพระสงฆ์”(นายแปง แก้วนัย, ๒๕๔๓ : สัมภาษณ์)
โรงเรียนชุมชนบ้านฟ่อนได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ โดย ร.อ.อ หลวงวิชิตชนบทพิบูลย์ (ทัศน์ สุขเนนทร์) นายอำเภอเมืองลำปางก่อตั้ง โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนประชาบาล๑ (บ้านฟ่อน)ใช้ศาลาวัดบ้านฟ่อนเป็นสถานที่เรียน เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๔ มีนักเรียนชาย ๗๐ คน นักเรียนหญิง ๗๒ คน รวมทั้งสิ้น ๑๔๒ คน มีครู ๒ คน ครูใหญ่คนแรกชื่อ นายโล๊ะ จารุวิจิตร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ชาวบ้านได้อุทิศที่ดินให้เป็นสมบัติของโรงเรียนมีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๖๙ ตารางวา โรงเรียนจึงได้ย้ายออกจากศาลาวัดมาอยู่ ณ ที่แห่งใหม่ โดยได้รับงบประมาณจากทางราชการสร้างอาคารเรียนแบบ ป.๑ ขนาด ๒ x ๒๔ เมตร จำนวน ๑ หลัง อาจารย์เต้า ฉกรรจ์แดง ชาวบ้านฟ่อน ได้เล่าว่า “ในช่วงระยะที่กำลังก่อสร้างอาคารเรียนนี้ จำเป็นต้องใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่เก็บอุปกรณ์ก่อสร้างทุกอย่าง ทำให้เกะกะกีดขวางไม่สะดวกในการเรียนการสอน จึงย้ายสถานที่เรียนชั่วคราวไปเรียนที่วัดชมพูหลวง เมื่อสร้างอาคารเรียนเสร็จแล้วจึงย้ายกับมาเรียนที่เดิมคือ บริเวณโรงเรียนในปัจจุบันนี้” (นายเต้า ฉกรรจ์แดง, ๒๕๔๓ : สัมภาษณ์) ต่อมาโรงเรียนได้ขยายบริเวณและสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมอีกหลายหลังดังนี้
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้ซื้อที่ดินจำนวน ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๒ ตารางวา โดยทางการได้จัดสรรงบประมาณให้ ๓๐,๐๐๐ บาท และประชาชนร่วมกับคณะครูได้จัดหาเงินโดยจัดงานทอดกฐินและจัดงานแสดงของครูและนักเรียน ได้เงินจำนวน ๑๒,๐๐๐ บาท จึงได้นำไปซื้อที่ดินเพิ่มอีก ๖ ไร่ ๑ งาน ๘๐ ตารางวา และได้ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ๐๐๘ ขนาด ๗ x ๗๑ เมตร มีห้องเรียนจำนวน ๙ ห้อง โดยได้เงินจากชาวบ้านที่ร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ทางราชการได้จัดสรรงบประมาณให้อีก ๑๕๐,๐๐๐ บาท อาคารได้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ และยังได้รับงบประมาณทาสีจากทางการอีกเป็นจำนวนเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท หลังจากอาคารใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้เปิดการสอนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายเป็นปีแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับงบประมาณจากทางการอีก ๑๕๐,๐๐๐ บาท ให้ทำการต่อเติมอาคารแบบ ๐๐๘ ให้เป็นอาคารสองชั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้รับงบประมาณจากทางราชการให้ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ๐๐๔ มีจำนวนห้อง ๘ ห้องเรียน เป็นจำนวนเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท ในการสร้างอาคารหลังนี้ชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมกันบริจาควัสดุการก่อสร้าง สมทบ โดยชาวบ้านทุกหลังคาเรือนบริจาคอิฐเพื่อก่อสร้างครอบครัวละ ๕๐๐ ก้อน บางรายก็บริจาคเป็นกรวดทรายและได้แรงงานจากชาวบ้านมาช่วยกันก่อสร้างจนเสร็จเรียนร้อย รวมมูลค่าของอาคารเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๗๐,๐๐๐ บาท ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นี้ได้รับงบประมาณก่อสร้างโรงฝึกงาน ๑ หลังเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ปีพ.ศ. ๒๕๑๔ โรงเรียนได้สร้างน้ำประปาโรงเรียนโดยได้รับงบประมาณจากกรมอนามัย ๗,๐๐๐ บาท และมีชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมบริจาคสมทบอีก ๑๑,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินงบประมาณที่ก่อสร้างน้ำประปาทั้งสิ้น ๑๘,๐๐๐ บาท
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ชาวบ้านได้ร่วมมือกันบริจาคเงินเพื่อสร้างรั้วด้านหน้าจำนวนทั้งสิ้น ๒๔,๙๔๑.๕๐ บาท ในปีพ.ศ. ๒๕๑๖ ได้สร้างรั้วด้านหลังโดยใช้เงินบำรุงการศึกษาที่ชาวบ้านบริจาคสมทบเป็นจำนวน ๖,๖๐๐ บาท ในปีพ.ศ. ๒๕๑๙ ได้สร้างอาคารเรียนแบบ ๐๐๔ จำนวน ๖ ห้องเรียน อีกหนึ่งหลัง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับงบประมาณเพื่อซ่อมแซมอาคารเรียนแล้วสร้างบ้านพักครูจำนวน ๒ หลัง ต่อมาคณะครู กรมการศึกษา ชาวบ้าน และบุคคลทั่วไปได้ร่วมกันบริจาคเงินจำนวน ๗๑,๒๐๐ บาท จัดซื้อที่ดินให้โรงเรียนอีก ๓ ไร่ ๑ งาน ๗๐ วา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับงบประมาณสร้างอาคารโรงอาหารเป็นจำนวนเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท และบ้านพักครูอีก ๑ หลัง เป็นจำนวนเงิน ๗๑,๕๐๐ บาท ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๓๐ ได้มีการพัฒนาอาคารสถานที่เกิดขึ้นใหม่หลายรายการ อาทิ เช่น การซ่อมแซมอาคาร สร้างถังน้ำประปา ปรับปรุงสนามเด็กเล่น ทำท่อระบายน้ำรอบอาคารเรียน ขุดบ่อเลี้ยงปลา สร้างเรือนเพาะชำ สร้างสถานประดิษฐานพระพุทธรูป สร้างถนนคอนกรีตจากประตูโรงเรียนเข้าสู่อาคารเรียนปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โรงเรียนบ้านฟ่อนได้เข้าเป็นโรงเรียนในโครงการโรงเรียนชุมชน และเรียกชื่อใหม่ว่า โรงเรียนชุมชนบ้านฟ่อน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้เริ้มเปิดสอนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นตามโครงการโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนชุมชนบ้านฟ่อนวิทยา เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนชุมชนบ้านฟ่อนวิทยาเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่กว่าทุกโรงเรียนในตำบลชมพู ปัจจุบันมีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๑ งาน ๕๕ ตารางวา และเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้น อนุบาล ถึง ระดับมัธยมศึกษา ปีที่ ๓
ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 2023-07-24 09:20:17 น.