๑. ข้อมูลทั่วไป
โรงเรียนท่าศาลาราษฎร์วิทยา ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต ๑ โทรศัพท์ ๐๔๒-๗๐๑๗๐๖เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เนื้อที่ โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งสิ้น ๔๓-๓-๖๔ ไร่ โดยแบ่งออกเป็น ๒ แปลง
แปลงที่ ๑ หมายเลขทะเบียน ๑๐๕๐ เป็นที่ตั้งอาคารเรียนทั้งสิ้น ๒๘-๒-๓๘ ไร่
แปลงที่ ๒ หมายเลขทะเบียน ๑๐๕๑ เป็นที่ดินใช้ประโยชน์ทางกิจกรรมเกษตรและปลูกป่า มีพื้นที่ทั้งสิ้น ๑๕-๑-๒๖ ไร่
เขตพื้นที่บริการ ประกอบด้วย ๓ หมู่บ้าน ดังนี้
หมู่ที่ ๑ บ้านท่าศาลา นับถือศาสนาพุทธ
หมู่ที่ ๗ บ้านจอมแจ้ง นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธ
หมู่ที่ ๘ บ้านบึงประชาราษฎร์ นับถือศาสนาพุทธ
ประวัติโรงเรียนโดยย่อ
โรงเรียนท่าศาลาราษฎร์วิทยาตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ สถานที่หมู่ที่ ๓ บ้านจอมแจ้ง ตำบลนาแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยอาศัยโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์เป็นสถานที่เรียน ต่อมาประเทศไทยเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศส บาทหลวงที่ทำการสอนเป็นชาวฝรั่งเศสจึงถูกรัฐบาลไทยส่งตัวกลับประเทศ โรงเรียนสอนศาสนาคริสต์จึงว่างลง ดังนั้น นายอำเภอเมืองจึงตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นแทน โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาลตำบลนาแก้ว (วัดจอมแจ้ง)” นายนิพัฒน์ พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นครูใหญ่คนแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ กรณีพิพาทระหว่างไทย – ฝรั่งเศสสิ้นสุดลง บาทหลวงสอนศาสนาคริสต์ได้กลับมาทำการสอนอีกครั้งหนึ่ง และดำเนินการขอสถานที่ที่ทำการสอนก่อนเกิดกรณีพิพาทคืนจึงทำให้นักเรียนโรงเรียนประชาบาลตำบลนาแก้วไม่มีสถานที่ที่จะเรียน ดังนั้นทางราชการจึงมีคำสั่งให้นักเรียนย้ายไปใช้สถานที่ที่ศาลาการเปรียญวัดบ้านน้ำพุ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ และให้ชื่อว่า
“ โรงเรียนประชาบาลนาแก้ว ๗ (วัดบ้านน้ำพุ)”
ปี พ.ศ.๒๔๘๙ ราษฎรหมู่บ้านท่าศาลาได้พร้อมใจกันสร้างโรงเรียนเป็นเอกเทศชั่วคราวที่วัดท่าศาลา หมู่ที่ ๗ ตำบลนาแก้ว ซึ่งทำการก่อสร้างได้แล้วเสร็จลงเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ มีชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาลตำบลนาแก้ว ๗ (วัดท่าศาลา) “ใช้เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนเรื่อยมาจนกระทั่งครูใหญ่เห็นว่า โรงเรียนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมากจนไม่สามารถที่จะทำการซ่อมแซมให้ใช้การได้ดีดังเดิมได้ จึงได้ประชุมราษฎรเพื่อหาทางแก้ไขและที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยที่จะทำการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่จึงมีการลงมือก่อสร้างอาคารใหม่จึงทำการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ จึงทำการก่อสร้างโดยไม่ได้ใช้งบประมาณของราชการแต่อย่างใด ซึ่งโรงเรียนที่ทำการสร้างขึ้นขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๑ เมตร และเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ. ศ. ๒๔๙๗
สภาพภูมิประเทศ โรงเรียนที่สร้างขึ้นใหม่นี้ตั้งอยู่ริมหนองหาร ซึ่งทางโรงเรียนและทางอำเภอเพิ่งทราบว่า ที่ดินของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมประมง เมื่อขอมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งทางจังหวัดได้เสนอเรื่องต่อไปยังกรมประมง แต่กรมประมงได้ตอบรับมาว่า ไม่สามารถที่จะยกที่ดินในเขตหนองหารให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่การศึกษาประชาบาลได้ แต่ทางโรงเรียนได้ปลูกสร้างอาคารเรียนอยู่ก่อนแล้ว จึงอนุมัติให้ยืมที่ดินรายนี้ให้ใช้ในกิจการของทางราชการได้ จนกว่ากรมสามัญ (ที่สังกัดอยู่ขณะนั้น) จะหาที่ดินแห่งใหม่ได้และห้ามมิให้ปลูกสร้างอาคารถาวรหรือถาวรวัตถุเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในขณะนี้ได้ ดังนั้นทางโรงเรียนจึงทำการจับจองที่ดินแปลงใหม่ได้ ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ทางทิศตะวันออกของบริเวณโรงเรียนเดิม
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ทางราชการเห็นว่าอาคารเรียนหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมมากเกรงว่าจะเกิดอันตรายขึ้นแก่ครู-นักเรียนได้ จึงมีคำสั่งอนุมัติเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ให้ทำการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่แทนหลังเก่า ซึ่งการก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ .ศ. ๒๕๑๘
ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ครูใหญ่เห็นว่าอาคารเรียนหลังเก่า บ้านพักครู ตลอดจนโรงอาหารที่สภาพชำรุดทรุดโทรม อีกทั้งโรงเรียนยังคงตั้งอยู่บริเวณที่ดินของกรมประมง จึงได้ปรึกษาคณะครู , กรรมการศึกษา , ชาวบ้านเพื่อขออนุญาตทำการรื้อถอนไปทำการปลูกสร้างใหม่ และได้รับอนุญาตจากทางอำเภอ จังหวัด ดังนั้นราษฎรทั้ง ๔ หมู่บ้าน ซึ่งได้แก่ หมู่บ้านท่าศาลา จอมแจ้ง บึงประชาราษฎร์ และหนองเอี่ยน จึงได้ร่วมแรงกันทำการรื้อถอนอาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเดิมไปปลูกสร้างในที่ดินแปลงใหม่ที่ทำการจับจองไว้แล้วนั้น ซึ่งการก่อสร้างได้เรียบร้อย เปิดทำการสอนได้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๑๙
ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร (ซึ่งสังกัดอยู่ในขณะนั้น)ได้รับจัดสรรงบประมาณการก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มแก่โรงเรียนอีก ๑ หลัง ในวงเงินงบประมาณ ๒๒๕,๐๐๐ บาท (สองแสนสองหมื่นห้าพันบาท) ซึ่งการก่อสร้างอาคารได้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ และได้ใช้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนแก่บุตรหลานของชาวบ้านในเขตบริการการศึกษามาจนถึงปัจจุบัน
ปีงบประมาณ ๒๕๓๓ ได้รับงบประมาณ ๔๗,๕๐๐ บาท (สี่หมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาท) ต่อไฟฟ้าเข้าโรงเรียน งานได้แล้วเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๓
ปีงบประมาณ ๒๕๓๔ ได้รับงบประมาณติดตั้งประปาภายในโรงเรียน ๑๕,๕๐๐ บาท งานติดตั้งเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๔
ปีงบประมาณ ๒๕๓๔ ได้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช. ๑๐๕/๒๙ ขนาด ๒ ชั้น ๔ ห้องเรียน งบประมาณ ๑,๓๘๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสามแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๔
ปีงบประมาณ ๒๕๓๔ ได้รับงบประมาณก่อสร้างถังเก็บน้ำซีเมนต์ พร้อมรางรับน้ำฝนตามแบบ ฝ.๓๐ พิเศษ จำนวน ๑ ชุด งบประมาณ ๖๔,๗๕๐ บาท (หกหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยห้าสิบบาท) การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๔
ปีการศึกษา ๒๕๓๖ ทางโรงเรียนได้เปิดขยายโอกาสทางการศึกษา เป็นปีแรก เปิดระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ มีนักเรียนทั้งหมด ๔๒ คน เป็นชาย ๒๔ คน หญิง ๑๘ คน และเข้าร่วมโครงการ กศ.พช.
ปีการศึกษา ๒๕๓๗ โรงเรียนได้เปิดชั้นอนุบาล ๑ เป็นปีแรก
ปีการศึกษา ๒๕๔๐ โรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนปฏิรูปทางการศึกษา โรงเรียนได้รับการจัดสรรปฏิรูปทางการศึกษา ๒ ห้อง คือ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และห้องปฏิบัติการทางภาษา และโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการสิ่งแวดล้อม เป็นโรงเรียนนำร่องในปีการศึกษา ๒๕๔๐
ปีการศึกษา ๒๕๔๑ ได้รับครูอัตราจ้างเพื่อแก้ไขการขาดแคลนข้าราชการครู จำนวน ๒ตำแหน่ง วุฒิปริญญาตรีเอกวิทยาศาสตร์ ขั้น ๖,๓๖๐ บาท
ปีการศึกษา ๒๕๔๒ มีนโยบายร่วมมือกับกรรมการโรงเรียนจัดสร้างโรงอาหาร เพื่อให้มีการรับประทานอาหารในโรงเรียน
ปีการศึกษา ๒๕๔๒ ได้รับครูอัตราจ้างเพื่อแก้ไขการขาดแคลนข้าราชการครู จำนวน ๑ ตำแหน่ง วุฒิปริญญาตรีเอกคณิตศาสตร์ ขั้น ๖,๓๖๐ บาท
ปีการศึกษา ๒๕๔๓ จัดโครงการปลูกป่าภูมิรักษ์ ๑๐ ไร่
ปีการศึกษา ๒๕๔๗ ได้รับครูอัตราจ้างเพื่อแก้ไขการขาดแคลนข้าราชการครู จำนวน ๑ตำแหน่ง วุฒิปริญญาตรีเอกภาษาไทย ขั้น ๖,๓๖๓๐ บาท
ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจนเป็นจำนวนเงิน ๑๐๑,๖๓๐ บาท
ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ได้รับเงินสนับสนุนอาหารกลางวันจากมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจนเป็นจำนวนเงิน ๓๕,๒๐๐ บาท
ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 2021-12-17 14:47:01 น.