โรงเรียนบ้านหนองขุนศรี เดิมอาศัยศาลาวัดบ้านหนองหว้า หมู่ ๔ ตำบลแคน เป็นสถานที่เรียนซึ่งเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยมีนายนาค แก้วมารยา เป็นครูใหญ่ต่อมา นายนาค แก้วมารยา ได้ลาออกจากราชการ นายทับทิม จันทร์ส่องแสง ได้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ เห็นว่าศาลาวัดซึ่งเป็นสถานที่เรียน เรียนต่อไปไม่ได้จึงได้ประชุมผู้ปกครอง ชาวบ้าน ผู้นำหมู่บ้าน เพื่อเตรียมจัดหาที่ดินในการสร้างที่เรียนใหม่และสามารถหาที่ดินได้ในพื้นที่บ้านหนองขุนศรี หมู่ที่ ๑๑ โดยการรวบรวมเงินและรับบริจาคทรัพย์จากผู้ปกครอง ประชาชนช่วยกันบริจาคเพิ่มเติมได้ซื้อที่ดินจำนวน ๖ ไร่ ๕๐ ตารางวา เมื่อได้ที่ดินเป็นเอกเทศแล้วคณะครู ผู้ปกครอง ชาวบ้า ได้รวบรวม และช่วยกันบริจาคไม้เพื่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวจนสำเร็จด้วยการร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย และขออนุญาตเปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่เป็น "โรงเรียนบ้านหนองขุนศรี" และเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๒๒ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
หลังจากได้เปิดทำการสอนในบริเวณพื้นที่โรงเรียนใหม่แล้วได้ร่วมกับผู้ปกครอง ประชาชน และผู้นำหมู่บ้าน ปรับปรุงพื้นที่ตลอดมา โดยการร่วมแรง ร่วมใจจากชุมชน ๓ หมู่บ้านคือ บ้านหนองหว้า บ้านหนองขุนศรี และบ้านหนองละคร ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับจัดสรรงบประมาณ จากทางราชการสร้างอาคารเรียน แบบ ป.๑ ฉ พื้นที่ติดดิน ๔ ห้องเรียน จำนวน ๑ หลัง มูลค่า ๑๖,๐๐๐ บาท
ปี ๒๕๑๗ สภาตำบลแคน จัดสรรงบประมาณ สร้างอาคารเรียน แบบ ป. ๑ ฉ พื้นที่ติดดิน ๑ หลัง จำนวน ๔ ห้องเรียน งบประมาณค่าก่อสร้าง ๑๘,๐๐๐ บาท
ปี ๒๕๒๒ ได้รับงบประมาณ สร้างอาคารอเนกประสงค์ ๑ หลัง พื้นที่ ๙๐ ตารางเมตร และสร้างบ้านพักครู แบบองค์การ จำนวน ๑ หลัง ในที่ดินที่รับบริจาคจาก นายทับทิม จันทร์ส่องแสง และพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตพื้นที่ของโรงเรียน เป็นที่ดินจำนวน ๖๐ ตารางวา ผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่เริ่มตั้งโรงเรียน จนถึงปัจจุบัน มีจำนวน ๔ คน ผู้บริหารคนปัจจุบันคือ นายเทพวิรุฬห์ บุญมี ย้ายมาดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๒๓ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ปัจจุบันดำรง ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชำนาญการพิเศษ ระดับ ๘
โรงเรียนบ้านหนองขุนศรี มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กและเยาวชน มีภารกิจในการจัดการศึกษา ดังนี้
๑) การจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา จัดการศึกษาให้กับเด็กผู้เรียนวัยก่อนการศึกษาภาคบังคับ เพื่อพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาตามศักยภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีความพร้อมในการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
๒) การจัดการศึกษาระดับการศึกษาภาคบังคับ จัดการศึกษาให้เด็กในวัยเรียนภาคบังคับทุกคน ให้เรียนจบหลักสูตร มีความรู้ ทักษะ เจตคติ แล้วมีคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 2021-11-19 21:29:06 น.