ประวัติของสถานศึกษา
ในอดีต นักเรียนในหมู่บ้านตากลางเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนบ้านกระโพ ระยะทางห่างกัน 3 กิโลเมตรเศษ การเดินทางไป-กลับ ของนักเรียนในแต่ละวันมีความยากลำบากมาก เพราะถนนหนทางไม่มีต้องเดินรัดเลาะและป่าทุ่งนา โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน นายยืน สืบนุการณ์ ศึกษาธิการอำเภอท่าตูม (ขณะนั้น) จึงให้จัดตั้งโรงเรียนบ้านตากลางขึ้น เมื่อวันที่ 1 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2477 โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดบ้านตากลาง เป็นสถานที่เรียนและให้ชื่อว่า “โรงเรียนวัดบ้านตากลาง” เปิดสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงชั้นประถมปีที่ 4
ปี พ.ศ. 2510 ได้รับงบประมาณจำนวน 100,000 บาท จากทางราชการให้จัดสร้างอาคารเรียน แบบ ป.1 ช. ชั้นเดียว ขนาดกว้าง 8.50 เมตร ยาว 27 เมตร 3 ห้องเรียนสร้าง ณ ที่ดินของโรงเรียน เมื่อวันที่ 14 เดือนกันยายน พ.ศ. 2510 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2510 (อาคารหลังนี้ได้รับอนุมัติให้รื้อถอนเมื่อปี 2535)
วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2510 ได้ย้ายโรงเรียนมาสร้างอาคารเรียนที่แห่งใหม่ (ที่ ณ ปัจจุบัน) วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2510 ขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก “โรงเรียนวัดบ้านตากลาง” เป็น “โรงเรียนบ้านตากลาง”
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านตากลาง เปิดการสอน 2 ระดับ คือ ระดับชั้นอนุบาล และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 บริหารงานโดย นายจิรัฏฐกรณ์ ชุมสุข ครูสายผู้สอน 8 คน และนักการภารโรง (โครงการ SP 2) จำนวน 1 อัตรา
สภาพเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม การเมือง
บ้านตากลางเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำสายสำคัญ 2 สายไหลมาบรรจบกัน ได้แก่แม่น้ำมูลต้นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา อีกสายหนึ่งคือแม่น้ำชี มีต้นกำเนิดที่เขาใหญ่ บริเวณแม่น้ำสองสายมาบรรจบกันเรียกว่า “วังทะลุ” ซึ่งเป็นจุดแบ่งดินแดน 3 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ ฝั่งขวาของแม่น้ำมูล เป็นดินแดนของอำเภอท่าตูม ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูลเป็นดินแดนของอำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ส่วนดินแดนที่อยู่ตรงกลางระหว่างแม่น้ำมูลกับน้ำชี เป็นดินแดนของอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
นอกจากนี้บ้านตากลางยังมีป่าไม้ขนาบทั้ง 2 ข้างอีก คือป่าภูดินกับป่าดงสายทอ ในอดีตป่าไม้ทั้งสองแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก เต็มไปด้วยต้นใหญ่น้อยนานาพันธุ์ สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนมีอาหารตามธรรมชาติมากมาย เช่น เห็ด ดอกกระเจียว และพืชผักอื่น ๆ แต่ปัจจุบันสภาพความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวไม่เหลือร่องรอยให้เห็นอีกแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากป่าไม้ตามที่กล่าวมาถูกทำลายหมดสิ้นไปแล้ว
ประชากรร้อยละ 99 ใช้ภาษากวยในการสื่อสาร และประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้แก่ ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงช้าง สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปประชากรร้อยละ 90 มีฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน ขาดแคลน ได้รับการศึกษาต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละครัวเรือนมีที่ดินทำกินน้อย หรือไม่มีเลย (ที่ราบอยู่ติดแม่น้ำมูลน้ำชีซึ่งเป็นที่ราบต่ำ) รายได้ส่วนใหญ่ได้จากการทำนาและรับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่งผลให้คนในชุมชนว่างงานในหนึ่งปีมากกว่า 6 เดือน
บ้านตากลางแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ ได้แก่หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 13 มีสถานที่ราชการที่สำคัญ เช่น สถานีอนามัย 1 แห่ง โรงเรียนสายสามัญ (เดิม) 1 โรง โรงเรียนประถม 1 โรง วัด 1 วัด ศูนย์คชศึกษา 1 ศูนย์
ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 2021-11-17 08:05:44 น.